20จว.ไร้ตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำ อนุกก.กลั่นกรองเผยไม่ส่งก็ขึ้นให้ รอบอร์ดเคาะ16ก.ย.นี้
เมื่อวันที่ 9 กันยายน ที่กระทรวงแรงงาน ร.อ.สาโรจน์ คมคาย รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรอง ครั้งที่ 2/2567 เพื่อพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน ของทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ ก่อนเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 22 ซึ่งมีกำหนดประชุมในวันที่ 16 กันยายนนี้ โดยมีผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ใช้เวลาหารือกว่า 2 ชั่วโมง
นายสาโรช เปิดเผยว่า บรรยากาศการประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี ขณะนี้ได้ตัวเลขครบทุกจังหวัดที่เสนอเข้ามาแล้ว รอเสนอบอร์ดค่าจ้างชุดใหญ่ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะมีการประชุมบอร์ดค่าจ้างชุดใหญ่ในวันที่ 16 กันยายนนี้ แต่ต้องรอดูความพร้อมของคณะกรรมการด้วย หากติดขัดอาจจะต้องเลื่อนออกไปก่อน
“ในวันนี้เป็นการเสนอค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัดเพียงอย่างเดียว แต่ถ้าจะลงลึกถึงรายอาชีพ และรายละเอียดต่างๆ ต้องรอผลการประชุมจากบอร์ดใหญ่อีกที” นายสาโรจน์ กล่าว
ด้านนายพนัส ไทยล้วน ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เนื่องจากไม่สามารถให้ข้อมูลได้มากนัก ที่จะระบุได้ตอนนี้ คือ ใช้วิธีคิดการจ่ายค่าจ้างพนักงานตามสูตรเหมือนเดิม แต่ยังเปิดเผยไม่ได้ บางอย่างบางเนื้อหาอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ยกตัวอย่างเช่น สูตร A – B = C แต่ด้วยเศรษฐกิจที่เปลี่ยน หรือยุคสมัยที่ต่างออกไป ค่าครองชีพสูงขึ้น ค่า A อาจจะเปลี่ยนไปจากอดีต ทำให้ผลลัพธ์อาจจะไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่ แต่อย่างไรก็ตาม จะผลักดันให้ขึ้นค่าแรงครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ
นายพนัส กล่าวว่า ส่วนกรณี 20 จังหวัด ที่ไม่เสนอปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ทางคณะอนุกรรมการฯ ก็จะปรับขึ้นให้ด้วย โดยการนำเข้าคำนวณในสูตรและปรับขึ้นให้โดยไม่ให้ต่ำไปกว่าค่าจ้างขั้นต่ำเดิม
“ยกตัวอย่างเช่น ค่าจ้างขั้นต่ำของ จ.สมุทรสาคร อยู่ที่ 363 บาท เมื่อคำนวณในสูตรค่าจ้างแล้ว อาจจะเหลือแค่ 362 บาท แต่เราก็ปัดขึ้นเป็น 363 บาท ไม่มีการลดลงจากเดิม แต่ปัญหาใหญ่ที่ตามมาคือ การที่แรงงานได้ค่าจ้างขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น จะมาไล่หลังผู้ที่ได้ค่าจ้างสูงกว่าเกณฑ์อยู่แล้ว แต่คงที่ ซึ่งเราไม่ได้มีกฎหมายไปบังคับว่า พนักงานคนไหนที่รับค่าจ้างขั้นต่ำสูงกว่าเกณฑ์ ต้องปรับเพิ่มขึ้นตาม ซึ่งผมเป็นคนเดียวที่เรียกร้องข้อเสนอนี้ ในกรณีที่มีการประกาศปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่ม ให้บริษัทปรับค่าจ้างพนักงานทุกคนให้สูงขึ้นด้วย” นายพนัส กล่าว
นอกจากนี้ นายพนัส กล่าวต่อไปว่า รัฐบาล และ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ไม่ควรตั้งธงปรับค่าจ้าง 400 บาท เพราะเป็นหน้าที่ของบอร์ดค่าจ้าง
“แต่ถ้ายังยืนยันจะเอาให้จบตามธงที่ตั้งเป้า เชื่อว่าฝ่ายนายจ้างจะวอล์กเอาท์ แต่กฎหมายเขียนไว้ว่าต้องได้เสียง 2 ใน 3 ถ้ารัฐบาลกับลูกจ้างเห็นด้วย เสียงก็พอแล้ว และถ้าจะปรับขึ้น 400 บาท เฉพาะในบางกลุ่มอาชีพ ฝ่ายนายจ้างก็คงไม่คัดค้านอะไร ยังมั่นใจว่าจะมีการเคาะอัตราค่าจ้างใหม่แน่นอน แต่คงจะไม่ทันให้มีผลในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ตามทั้งตั้งเป้าไว้” นายพนัส กล่าว
นายอรรถยุทธ ลียะวณิช ผู้แทนฝ่ายนายจ้างในคณะกรรมการค่าจ้าง กล่าวว่า ไม่สามารถให้ข้อมูลได้ เพราะต้องรอฟังการแถลงจากวันที่ประชุมบอร์ดค่าจ้างชุดใหญ่อีกครั้ง
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับจังหวัดที่มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นมากสุด คือ กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต และสมุทรปราการ อยู่ที่ 363-370 บาท ส่วนจังหวัดที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำน้อยที่สุดอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส อยู่ที่ 330 บาท
Post a Comment