กรมชลประทาน เพิ่มระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา ไม่เกิน 2,000 ลบ.ม./วินาที


เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำเพิ่ม

กรมชลประทานเตรียมปรับเพิ่มการระบายเขื่อนเจ้าพระยา ไม่เกิน 2,000 ลบ.ม./วินาที คาดการณ์ปริมาณน้ำเพิ่ม จากฝนตกสุดสัปดาห์นี้ ส่งผลทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำมีน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 20 -50 เซนติเมตร

วันที่ 7 กันยายน 2567 กรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยาว่า ตามประกาศของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก จากอิทธิพลของร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ในช่วงระหว่างวันที่ 3 -9 กันยายน 2567 นี้ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่คาดการณ์ว่า จะมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นในช่วงวันที่ 6 – 8 กันยายนนี้

ประกอบกับเขื่อนสิริกิติ์มีแนวโน้มปรับเพิ่มการระบายน้ำ เพื่อรองรับน้ำหลากในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ ที่สถานีวัดน้ำ C2 เพิ่มสูงขึ้นอยู่ในอัตรา 1,500 -1,600 ลบ.ม./วินาที ก่อนที่จะไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา โดยการรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ตามศักยภาพของคลองชลประทานในอัตราที่เหมาะสม

และเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำของเขื่อนเจ้าพระยาและสามารถรองรับปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาที่จะเพิ่มขึ้นจากฝนที่ตกในระยะนี้ได้ จึงจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราระหว่าง 1,500 – 1,700 ลบ.ม./วินาที

ซึ่งการระบายน้ำในอัตราดังกล่าว จะส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ บริเวณคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง , คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา , แม่น้ำน้อยบริเวณตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา , ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดน อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 20 -50 เซนติเมตร

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการอำนวยการด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เห็นชอบให้กรมชลประทาน ปรับเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันไดผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราไม่เกิน 2,000 ลบ.ม./วินาที โดยจะควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านให้อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าวอย่างเต็มศักยภาพของพื้นที่ เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชนและพื้นที่การเกษตรให้ได้มากที่สุด

พร้อมทำหนังสือแจ้งเตือนไปยังจังหวัดในพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำ ให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม เฝ้าระวังระดับน้ำและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด หากระดับน้ำทางตอนบนเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น กรมชลประทานจะแจ้งให้ทราบเป็นระยะต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง



Source link

Post a Comment

Previous Post Next Post